Menu Close

“โครงการจุฬาอารี” พัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับสังคมสูงวัย

ข้อเสนอจากงานวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบประเด็นที่สำคัญ ด้านที่อยู่อาศัยและการได้รับบริการที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุ ที่มีฐานะยากจน และเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งระบุว่า เราจะไม่สามารถสร้างบ้านพักผู้สูงอายุเพิ่มเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุในอนาคตได้อีกแล้ว

โดยประเมินว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 20.5 ล้านคนในปี 2583 รวมถึงความหลากหลายของผู้สูงอายุ ที่พบว่ามีความต้องการด้านการอยู่อาศัยเดิม และบริการด้านสังคมที่แตกต่างกันไป ซึ่ง นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย มองว่าเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับทุกภาคส่วน ที่ต้องเร่งออกนโยบายให้ทันต่อสถานการณ์ และอาจจะต้องเปลี่ยนคำถามว่า “แก่ไปใครจะดูแล” เป็น “แก่ไปท้องถิ่น คนในชุมชนจะดูแลกันอย่างไร” เพราะนิยามสังคมสูงวัย ยังรวมถึงคนทุก ๆ ช่วงวัยที่ต้องอยู่และได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่พอมาดูแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างใน Gen-Z หรือผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2539 – 2555 ว่ารู้สึกอย่างไรกับคําว่า “สังคมสูงวัย” ร้อยละ 31 บอกว่าเฉย ๆ เมื่อถามว่าให้ความสำคัญด้านใดมากที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมใช้ชีวิตยามสูงอายุ อันดับ 1 เป็นเรื่องสุขภาพ ร้อยละ 40 รองลงมาเป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 20 ตามมาด้วยเรื่องของสภาพสังคม และเศรษฐกิจ

ซึ่งในส่วนของที่อยู่อาศัย ที่ต้องการมากที่สุด คือเพิ่มจํานวนและปรับลดอัตราค่าบริการ ของศูนย์ที่พักอาศัยสําหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือ Senior Complex ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งนักวิจัยบอกแล้วว่า ไม่พอต่อสถานการณ์ผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้น ส่วนอันดับ 2 คือการซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านให้เหมาะสม เวลานี้มีหลายภาคส่วนที่พยายามใช้โมเดลนี้อยู่ ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด จะไปต่อกันอย่างไร ชวนคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติอร ศิริสุข คณะทำงานโครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย หรือ “โครงการจุฬาอารี”

ที่มา: รายการตรงประเด็น สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS  http://www.thaipbs.or.th/ActiveFocus

 

thThai
en_USEnglish thThai