Menu Close

ผลการดำเนินงานปี พ.ศ. 2566

ผลการดำเนินงานโครงการจุฬาอารีในปี พ.ศ. 2566

โดยการสนับสนุนจาก

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
กลุ่มบริษัท อินเทลโนเวชั่น จำกัด
บริษัท พี.วี.ที.แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
บริษัท ลีลาโกลเบิล จำกัด
และครอบครัวลีละยูวะ

1. จัดประชุมระดมความคิดร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในเกาะสีชังอย่างยั่งยืน รวมทั้งเขาพบผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเพื่อหาแนวทางให้การสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนในเกาะสีชัง

ภาพการเข้าพบและประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี วันจันทร์ ที่ 6 ก.พ. 2566

ภาพการเข้าพบและประชุมกับนายอำเภอ อ. เกาะสีชัง วันจันทร์ ที่ 6 ก.พ. 2566

ภาพการประชุมหารือและลงพื้นที่ชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 อ. เกาะสีชัง วันพุธ ที่ 17 พ.ค. 2566

ภาพการประชุมหารือร่วมกับกลุ่มนวัตกรชุมชน อ. เกาะสีชัง วันพุธ ที่ 17 พ.ค. 2566

ภาพการลงพื้นที่ชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 อ. เกาะสีชัง วันพฤหัสบดี ที่ 18 พ.ค. 2566

ภาพการประชุมหารือร่วมกับครูและนักเรียน โรงเรียนเกาะสีชัง วันพฤหัสบดี ที่ 18 พ.ค. 2566

ภาพการประชุมหารือร่วมกลุ่มผู้สูงอายุ อ. เกาะสีชัง วันศุกร์ ที่ 19 พ.ค. 2566

ภาพการลงพื้นที่โรงพยาบาลเกาะสีชัง วันศุกร์ ที่ 19 พ.ค. 2566

ภาพการลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มอาชีพ วันพฤหัสบดี ที่ 18 พ.ค. 2566

2. เข้าเยี่ยมชุมชนคลองลัดภาชี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่และถอดบทเรียน

  • ชุมชนมีการต่อยอดพื้นที่ที่โครงการจุฬาอารีไปปรับปรุง โดยทำเป็นสวนผักปลอดสารพิษ มีการนำขยะมาหมักเป็นปุ๋ย ผักใช้แจกจ่ายกันภายในชุมชน มีการชั่งน้ำหนักผักและประเมินราคาว่าการใช้ผักในชุมชนทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของแต่ละครัวเรือนไปได้เพียงใด
  • การใช้พื้นที่ของอาคารอเนกประสงค์ที่ทางโครงการจุฬาอารีปรับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกให้ ชุมชนได้นำไปต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ของคนทุกวัย โดยได้รับเงินสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัจจุบันใช้เป็นที่ประชุม ที่ฝึกอบรมของสมาชิกในชุมชนทุกวัย

3. จัดกิจกรรมเปตองสามวัย สร้างสายใยชาวเกาะสีชัง

     จากผลการตรวจสุขภาพโดยทีมด้านสุขภาพของโครงการจุฬาอารีและไทยอารี พบว่าผู้สูงอายุในเกาะสีชังมีภาวะน้ำหนักเกิน และมีไขมันในหลอดเลือดสูง ตลอดจนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคโลหิตในสมอง  แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนัก และขาดการออกกำลัง และการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร    เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุ รวมทั้งประชากรที่จะเป็นผู้สูงอายุต่อไปในอนาคตตระหนักถึงการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพ ตลอดจนสานสัมพันธ์ระหว่างประชากรทุกวัย  โครงการจุฬาอารี โดยความร่วมมือของผู้นำชุมชน เทศบาลและอำเภอเกาะสีชังจึงจัดกิจกรรม “เปตองสามวัย สร้างสายใยชาวเกาะสีชังขึ้น”  

     สำหรับกติกาในการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันคือ เป็นทีมตัวแทนของหมู่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้านในเกาะสีชัง โดยแต่ผู้เข้าแข่งขันของแต่ละจะต้องประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) และผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก (อายุ 8-14 ปี)

     การทำกิจกรรมนอกจากจะมีการแข่งขันเปตองแล้ว ยังมีนิทรรศการเพื่อรณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมงานตระหนักถึงความสำคัญในการรับประทานอาหารและออกกำลังเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งวิธีการป้องกันตนจาก COVID-19 และโรคระบาดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ

กิจกรรม “เปตองสามวัย สร้างสายใยชาวสีชัง” ภายใต้โครงการจุฬาอารี

หลักการและเหตุผล

     กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการต่อยอดจากโครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย หรือจุฬาอารี ซึ่งได้พัฒนาต้นแบบชุมชนรองรับสังคมสูงวัยในกรุงเทพมหานครไว้แล้ว รวมทั้งได้ดำเนินการขยายผลไปเป็นโครงการไทยอารีในระยะต่อมา โดยมุ่งทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในชุมชนเมืองด้วยพลังของชุมชน  ชุมชนเกาะสีชังเป็นชุมชนหนึ่งที่โครงการไทยอารีได้ทำการวางรากฐานระบบขึ้นในระหว่างปีพ.ศ. 2564-2565 ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนระบบและพัฒนาระบบที่ได้วางรากฐานไว้แล้วให้อย่างต่อเนื่อง มีความยั่งยืน  โดยโครงการต่อยอดจะเน้นดำเนินการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยเพื่อเพิ่มสุขภาวะและการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน การส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก การส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตให้กับผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันและประชากรวัยอื่นที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต รวมทั้งการสร้างเสริมสัมพันธภาพและพลังชุมชนด้วยการสานพลังประชากรทุกกลุ่มวัย

     จากข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประชากรสูงอายุในเทศบาลตำบลเกาะสีชังที่ได้ดำเนินการสำรวจในโครงการไทยอารี พบว่า ประเด็นที่ท้าทายที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การที่ผู้สูงอายุในเกาะสีชังมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวขึ้นพร้อมกับความเสี่ยงที่จะมีโรคเรื้อรังอันอาจนำไปสู่ภาวการณ์พึ่งพาเพิ่มขึ้นในอนาคต  นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุส่วนหนึ่งอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กันเองตามลำพัง ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพมากนัก  รวมทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ทำให้คนในวัยทำงานมุ่งแต่การทำงานหาเลี้ยงชีพหาเลี้ยงครอบครัว จนมีเวลาจำกัดในการดูแลสุขภาวะ  ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะมีกิจกรรมที่กระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนทุกวัยเกิดความตระหนักถึงการดูแลสุขภาวะเชิงรุกด้วยการออกกำลังกายและการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างวัยด้วยการกีฬา  โครงการจุฬาอารีต่อยอด จึงร่วมกับชุมชนเกาะสีชังและเทศบาลตำบลเกาะสีชังในการจัดกิจกรรม “เปตองสามวัย สร้างสายใยชาวสีชัง” ขึ้น

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกของประชากรสามวัย คือ วัยหนุ่มสาว วัยทำงานและวัยสูงอายุด้วยกีฬาเปตอง
    2. เพื่อส่งเสริมความตระหนักและการเตรียมการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน
    3. เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกต่างวัยในชุมชน รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ หน่วยงานนอกพื้นที่ กับชุมชนในการร่วมกันขับเคลื่อนระบบรองรับสังคมสูงวัยในชุมชน

แนวทางการดำเนินงาน

     จัดกิจกรรมการแข่งขันเปตอง  โดยจัดทีมแข่งขันที่ประกอบด้วยประชากรสามวัยจากทุกหมู่บ้านในชุมชนเกาะสีชัง  จำนวน 7 ทีม ทีมละ 10 คน และ ทีมจากส่วนงานในพื้นที่และโครงการจุฬาอารี อีก 1  ทีม   ดำเนินการแข่งขัน 1 วัน โดยมีการมอบถ้วยรางวัลและเงินรางวัลสำหรับผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสามลำดับแรก  โดยรางวัลที่ได้รับจะเป็นรางวัลที่หมู่บ้านไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในหมู่บ้านต่อไป

ผลการดำเนินกิจกรรม

     การเตรียมการและการจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน 2566 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 120 คน ทั้งผู้สูงอายุ วัยแรงงาน และเยาวชน โดยผลการประเมินความพึงพอใจผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรม (ร้อยละ 100)

4. Nutrition Academy Thailand

     การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 “การจัดการด้านโภชนาการและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกล้ามเนื้อที่ดีในยามสูงอายุ” และ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 “เรื่องการประเมินการดูแลตนเองด้านโภชนาการและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกล้ามเนื้อที่ดีในยามสูงอายุ

     ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ประชากรมีชีวิตอายุยืนยาวขึ้นเป็นลำดับ  ขณะเดียวก้นก็พบว่ายิ่งอายุมากขึ้นมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีความเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อหรือโรคจากความเสื่อมของร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งโรคเหล่านี้ยากที่จะรักษาให้หายขาด  แต่สามารถป้องกัน ควบคุมหรือบรรเทาความรุนแรงของโรค รวมทั้งสามารถเพิ่มหรือคงไว้ซึ่งสมรรถนะทางร่างกาย ได้ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมด้านโภชนาการ และการออกกำลังกาย  

     ด้วยเหตุนี้โครงการจุฬาอารี ร่วมกับโครง Nutrition Academy ของบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพชองประชากร จึงได้ร่วมมือจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการด้านโภชนาการและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกล้ามเนื้อที่ดีในยามสูงอายุ” .ให้แก่ประชากรอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 55 คน จากชุมชนภายใต้โครงการจุฬาอารี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566  

     ในการจัดกิจกรรมนั้นมีการอบรมทั้งในด้านการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติทั้งในด้านการออกกำลังเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ  และการอ่านฉลาก การกำหนดตารางอาหาร การเลือกซื้ออาหาร การคำนวณปริมาณพลังงานจากอาหาร และการทดลองทำอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุในชุมชน โดยคณาจารย์จากคณะสหเวชศาสตร์  พร้อมกันนั้นทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำการตรวจสุขภาพ ด้วยการวัดมวลกล้ามเนื้อ ไขมัน น้ำ และ BMI และประเมินผลให้ผู้สูงอายุแต่ละรายทราบ     

     ผลการจัดอบรมชิงปฏิบัติการพบว่าผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม มีความพึงพอใจอย่างมากทั้งในด้านเนื้อหาสาระ และกิจกรรมประกอบการเรียนรู้   โดยผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับสมุดบันทึกกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทั้งในด้านการรับประทานอาหารและการออกกำลังในแต่ละวัน  และจะมีการติดตามผลในการอบรมครั้งต่อไป

     การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 เรื่องการประเมินการดูแลตนเองด้านโภชนาการและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกล้ามเนื้อที่ดีในยามสูงอายุ” ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เพื่อประเมินและติดตามผลการนำความรู้ไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  โดยการอบรมประกอบไปด้วยการตรวจติดตามภาวะสุขภาพ และเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ผู้ที่เข้ารับการอบรมในลักษณะการติวเข้ม เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ได้รับการอบรมสามารถดูแลสุขภาพตนเองทั้งในด้านโภชนาการและการออกกำลังให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งมุ่งให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถทำหน้าที่เป็นทีมส่งเสริมสุขภาพ (Health Coach) ในแต่ละชุมชนโดยถ่ายทอดความรู้และแนวปฏิบัติให้แก่ผู้สูงอายุหรือผู้ที่สนใจในชุมชนของตน  อันจะทำให้เกิดการขยายผลจากการอบรมไปสู่ชุมชนในวงกว้าง

     ผลการจัดอบรม พบว่า ผู้สูงอายุที่นำความรู้จากการอบรมครั้งแรกทั้งในด้านการรับประทานอาหาร และการออกกำลังได้ดีสามารถควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุบางส่วนยังไม่ได้ปฏิบัติตนสม่ำเสมอ และให้ข้อคิดเห็นว่าไม่ค่อยสะดวกในการใช้สมุดบันทึก   ทีมผู้อบรมได้ปรับวิธีการให้ความรู้และการจัดอบรมให้ชัดเจนชึ้น รวมทั้งมีอุปกรณ์เสริมสำหรับแต่ละชุมชนในการออกกำลัง  มีการให้เลิอกคำนวณประเภทและพลังงานจากอาหารที่ในหลายกรณีผู้สูงอายุไม่ได้ทำเองแต่ต้องไปหาซื้ออาหารที่ปรุงเสร็จแล้วมารับประทาน และมีการตอบข้อซักถามข้อข้องใจต่าง ๆ จากนั้นก็มีการทำไลน์กลุ่มผู้เข้ารับอบรมทั้งหมด เพื่อให้ผู้เข้ารับอบรมไปทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนที่เป็นผู้สูงอายุในชุมชน  โดยผู้ที่ได้รับอบรมทั้ง 55 คนจะต้องนำความรู้ไปถ่ายทอด ให้คำแนะนำ กับเพื่อนในชุมชนอีกอย่างน้อย 3 คน  โดยทีมจุฬาอารีจะคอยให้ข้อมูลเพื่อเสริมความรู้ผ่านกลุ่มไลน์  และหากมีข้อคำถามจะส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญให้คำตอบ

5. เวทีวิชาการถอดบทเรียนต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร:ข้อเสนอแนะการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับชุมชนในพื้นที่ วันที่ 5 กันยายน 2566

หลักการและเหตุผล

     ระบบการดูแลสำหรับผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ภายใต้ภารกิจของกรุงเทพมหานคร ผลการประเมินกระบวนการการทำงานด้านผู้สูงอายุ ชี้ให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับงานด้านผู้สูงอายุมากขึ้นกว่าในอดีต แต่การดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานครยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ ดังนี้

– การขาดการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
– การขาดการถ่ายทอดและสร้างความเข้าใจในแผนฯ ให้แก่ผู้มีส่วน เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ
– การขาดการบูรณาการและขาดการทำงานเชิงรุก

     เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) ที่ต้องการบูรณาการและการทำงานเชิงรุก ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเขต สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ จึงจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถอดบทเรียนต้นแบบการทำงานผู้สูงอายุที่ประสบผลสำเร็จทั้งจากภาคประชาสังคมและจากกรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์

    1.  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน งานผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร
    2. สร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร
    3. ส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ/ประชาสังคม/ชุมชน

เนื้อหาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

    1. นำเสนอต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ตัวอย่างที่เหมาะสม
      • ต้นแบบจากงานศึกษาวิจัยของจุฬาอารี
      • ต้นแบบจากงานในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. (กลุ่มอรุณอินสยาม เขตวังทองหลาง)
      • ต้นแบบจากงานในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
    1. ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ .2566-2570)

ผู้แทนผู้สูงอายุจากโครงการจุฬาอารีเข้าร่วมเวทีวิชาการครั้งนี้

6. วิทยาลัยประชากรศาสตร์มีการจัดการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตในโครงการก้าวทันกระแสโลก คงภูมิปัญญาไทย (Global Competency, Local Wisdom) ตอน ดนตรีไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ โดยวิทยากรคือ ดร. สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ และได้เชิญผู้สูงอายุจากชุมชนในโครงการจุฬาอารีเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 8 กันยายน 2566

7. คณะทำงานศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยประชากรศาสตร์จัดโครงการธรรมะยามเย็นร่มเย็นเป็นสุขอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดยมีการตั้งกลุ่มในแอปพลิเคชั่นไลน์มีสมาชิกกว่า 100 คนโดยมีผู้สูงอายุจากชุมชนในโครงการจุฬาอารีเข้าร่วมกลุ่มและในทุกวันศุกร์จะมีการประชุมแบบกลุ่มผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ในกลุ่มนี้เพื่อสวดมนต์และรับฟังบรรยายธรรมะร่วมกัน

thThai
en_USEnglish thThai