Menu Close

รพ จุฬาฯ ให้บริการผู้สูงอายุครบวงจร

          ศูนย์การดูแลผู้สูงอายุ

บริการดูแล ป้องกัน และรักษา โรคผู้สูงอายุ อย่างครบวงจร

จากก้าวสำคัญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการเปิดให้บริการอาคาร ส.ธ. เพื่อเป็นศูนย์การแพทย์ต้นแบบของสังคมไทยในการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการครบวงจร จนนำมาสู่การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ เตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จากสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุของไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยมีพันธกิจที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงอายุสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อผู้อื่น

ความเป็นมาของศูนย์

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ได้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีพันธกิจที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงอายุสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เกี่ยวกับศูนย์

ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านการแพทย์และวิจัย ในฐานะหัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ ให้บริการทั้งในด้านการป้องกันและดูแลรักษาอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น การหกล้ม ปัญหาเรื่องการนอนหลับ ปัญหาด้านการมองเห็นและได้ยิน การเสื่อมถอยของระบบอวัยวะภายใน รวมไปการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ด้วยการบริการจากสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญและพร้อมดูแลผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน

“เปิดโอกาสให้ทั้งผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี และบุคคลวัยอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความเข้าใจและการดูแลที่เป็นมิตรให้เกิดขึ้นในสังคม”

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังมีการจัดตั้ง คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี เพื่อสร้างเสริมการดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุตั้งแต่เริ่มต้น ให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด อีกทั้งยังสร้างตำราทางการแพทย์เกี่ยวกับผู้สูงวัย ให้เป็นตำราอ้างอิงของประเทศไทย การจัดประชุมวิชาการด้านผู้สูงวัย รวมไปถึงการร่วมมือกับชุมชน เพื่อสร้างระบบอาสาสมัครที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี และบุคคลวัยอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความเข้าใจและการดูแลที่เป็นมิตรให้เกิดขึ้นในสังคม

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคม ผู้สูงอายุ” โดยปัจจุบันมีจำนวนประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า ร้อยละ 10 จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มที่จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่ม สูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี และจะเข้าสู่สังคม ผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวในปี 2568 โดยมีประชากรสูงอายุเกินกว่าร้อยละ 20 ดังนั้น เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้เริ่มต้นใช้งาน “อาคาร ส.ธ. เพื่อผู้สูงวัย” พร้อมผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงวัยแก่ทุกคนในครอบครัว

 

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้หากมองไปรอบๆ ตัวจะพบว่าประชากรทุก 5 คนจะมีผู้สูงวัยที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี 1 คน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ ดังกล่าว และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลรักษาเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ จึงดำเนินการสร้างอาคารเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรขึ้น โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2558 อาคารนี้สร้างขึ้นในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมมายุ 60 พรรษา และได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารว่า “อาคาร ส.ธ.” ถือเป็นศูนย์การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือแพทย์ทันสมัย และการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการให้บริการ ผู้สูงอายุอย่างแท้จริง

 

ศ.นพ.รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวการ ฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า อาคาร ส.ธ. ซึ่งมีพื้นที่ 18 ชั้นที่มีหน่วยให้บริการดูแลผู้สูงวัยในทุกๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่การตรวจหาอาการผิดปกติของร่างกายในเชิงป้องกันและชะลอความเสื่อม มีคลินิกสูงวัยสุขภาพดี ที่เน้นให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวและการวางแผนชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อมีการตรวจพบอาการผิดปกติในระยะเริ่มแรก ก็จะมีการส่งต่อผู้สูงอายุเข้าสู่คลินิกเฉพาะทางที่ตั้งอยู่ในอาคารแห่งนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ศูนย์พาร์กินสัน ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ ศูนย์การเดินและเคลื่อนไหว ศูนย์ฝึกสมอง ศูนย์ ฟื้นฟูสมอง ศูนย์สุขภาพชาย ศูนย์ฝึกทักษะการพูด การได้ยิน การกลืน การทรงตัวและการมองเห็น เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยเน้นการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันกลุ่มอาการเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะหกล้มบ่อย สำลัก ปัญหาการมองเห็น การได้ยิน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น รวมถึงโรคหรือภาวะร่วมที่เรียกว่าโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ ได้แก่ เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง เพื่อเสริมสร้างให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตในทุกด้านได้อย่างมีความสุข

 

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่สนใจสามารถใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิประกันสังคมได้เช่นเดียวกับการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป

 

“แม้ อาคาร ส.ธ. จะยังไม่เปิดให้บริการในทุกส่วน แต่ปัจจุบันก็มีผู้ที่สนใจเข้ามาใช้งานในส่วนที่เปิดให้บริการ และเนื่องจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ทำงานควบคู่กับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาโดยตลอด นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา โรงพยาบาลจึงมีเป้าหมายในการผลิตองค์ความรู้และบุคคลากรเพื่อดูแลสุขภาพของคนในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น การวิจัยต่างๆ ในอนาคตอาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานในอาคารแห่งนี้

 

“อาคาร ส.ธ.” จึงถือเป็นอาคารต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุอย่างเต็ม รูปแบบ ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมแห่งผู้สูงวัย หากผู้สูงวัยยังมีสุขภาพและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ ก็พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ไม่ต่างจากคนในวัยหนุ่มสาว” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวในตอนท้าย

thThai
en_USEnglish thThai